ตับแข็ง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นของโรคตับซึ่งทำให้เกิดการทำลายตับและการอักเสบ เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นซ้ำๆ จะทำให้เนื้อเยื่อที่ดีของตับถูกทำลายเกิดแผลเป็นและพังผืดขึ้นมาแทนที่เนื้อตับ จึงสูญเสียความยืดหยุ่นและกลายเป็นตับแข็งในที่สุด
ภาวะตับแข็ง ยังอาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดทำให้ความดันในเส้นเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย ม้ามโต ขาบวม มีน้ำในช่องท้อง มีการเปลี่ยนแปลงตามผิวหนัง คือ มีจุดเล็กๆ แดงๆ เกิดขึ้น มีเส้นเลือดผิดปกติเกิดขึ้นในช่องทางเดินอาหาร ซึ่งถ้าเส้นเลือดเหล่านี้แตกก็อาจทำให้ถ่ายอุจจาระปนเลือดได้
สาเหตุการเกิดโรคตับแข็ง มีคร่าวๆ ดังนี้
1. ภาวะไขมันเกาะตับ
2. ภาวะดีซ่านจากท่อน้ำดีอุดตัน
3. การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซีและดี
4. การรับประทานยาหรือสมุนไพรบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
5. ตับอักเสบจากภูมิต้านทานตนเองที่ทำงานไม่ปกติ
6. ภาวะหัวใจล้มเหลวหลายครั้งติดต่อกัน
7. การได้รับสารพิษที่มีผลต่อตับ
8. โรควิลสัน (Wilson’s Disease) เกิดจากการมีการสะสมทองแดงมากเกินไปในตับ
โรคตับแข็งนี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาด เพราะเซลล์ตับที่ถูกทำลายไปแล้ว ไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ แต่สามารถชะลอหรือหยุดการทำลายตับได้ ถ้าเป็นตับแข็งระยะเริ่มแรก และปฏิบัติตัวได้เหมาะสม ซึ่งจะสามารถมีชีวิตได้นานเกิน 5-10 ปีขึ้นไป แต่ถ้าปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อนชัดเจน เช่น ดีซ่าน ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด ก็จะมีชีวิตสั้น อาจอยู่ได้ 2-5 ปี
สิ่งที่ผู้ป่วยภาวะตับแข็งควรปฏิบัติเพื่อลดการทำลายตับและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
1. หลีกเลี่ยงทุกสิ่งที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อตับ เช่น งดดื่มแอลกอฮอล์ ลดน้ำหนักเพื่อป้องกันภาวะไขมันเกาะตับ งดการรับประทานยาที่เป็นอันตรายต่อตับ เป็นต้น
2. ห้ามงดการรับประทานโปรตีนเพราะจะทำให้การเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอผิดปกติไป ควรรับประทานโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา ถั่วเหลือง เป็นต้น
3. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาและสมุนไพรที่ส่งผลต่อตับ
4. จำกัดการรับประทานเกลือและอาหารที่มีรสเค็มเพราะจะทำให้เกิดอาการบวมมากขึ้น
5. ไม่ควรปล่อยให้ท้องผูกเพราะจะทำให้สารพิษดูดซึมเข้าไปในร่างกายและเกิดการสะสมได้มากขึ้น
6. คอยสังเกตอาการว่ามีอาการแย่ลงหรือไม่ ถ้าอาการแย่ลงควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจสุขภาพตับและคอยติดตามอาการเป็นระยะนั่นเอง
จะพบว่า ในอดีตโรคตับแข็งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ยกเว้นการปลูกถ่ายตับกรณีที่โรคเป็นมากแล้ว แต่ปัจจุบันพบว่าการเอาสาเหตุที่กระตุ้นให้ตับเสียหายออกไปได้ก็สามารถทำให้การทำงานของตับดีขึ้นได้ เช่น การใช้ยาต้านไวรัสบีหรือซี การหยุดดื่มแอกอฮอล์ การให้ยาขับเหล็กหรือทองแดง เป็นต้น